PROLAB เป็นห้องปฏิบัติการทางคลินิกเอกชนในประเทศไทย ที่ให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์ต่าง ๆ ได้พัฒนาและรักษามาตรฐานของกระบวนการทดสอบอย่างมีคุณภาพมาอย่างยาวนาน ห้องปฏิบัติการแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้วและได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 15189
ทีมของ PROLAB มุ่งมั่นต่อความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติงาน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ทีมจะทบทวนขั้นตอนการทำงานที่ทำอยู่และมองหาโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการจัดการห้องปฏิบัติการอยู่เสมอ โดยดำเนินกิจกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้พบหลายจุดที่สามารถปรับปรุงได้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญ “เราทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบในการสนับสนุนตามขีดความสามารถของเรา เพื่อให้แน่ใจว่าโลกของเราจะบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน” คุณวิฑูรย์ อารยะพิพัฒน์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ PROLAB กล่าว “เราต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนเพื่อดูแลโลกของเรา”
ด้วยเหตุนี้ ทีมจึงทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ขององค์กรเพื่อทำการพัฒนาด้านการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการอย่างวัดผลได้ เป้าหมายแรกคือลดการใช้น้ำ โดยห้องปฏิบัติการทางคลินิกแห่งนี้ได้นำน้ำประมาณ 1,600 ลิตรต่อวันกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นน้ำทิ้งจากระบบน้ำรีเวิร์สออสโมซิสแบบสองชั้น (dual reverse osmosis) ที่ใช้ในการทำงานของเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ ซึ่งโครงการนี้เป็นการนำน้ำภายในห้องปฏิบัติการกลับมาใช้ใหม่ โดยมองหาวิธีต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการใช้น้ำที่เหลือทิ้งจากขั้นตอนนี้
พาร์ทเนอร์องค์กรของ PROLAB ได้ทำการติดตั้งท่อน้ำและที่เก็บน้ำใหม่ ระบบนี้ทำให้สามารถใช้น้ำเวียนได้ ที่ก่อนหน้านี้เป็นน้ำทิ้งให้กลายมาเป็นน้ำสำหรับใช้ขณะกดน้ำที่ชักโครก ถูพื้น รดน้ำต้นไม้ ซักผ้า และล้างรถเอกซเรย์เคลื่อนที่และรถขนส่งตัวอย่าง
“น้ำทุกหยดเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และน้ำเสียจากกระบวนการทำน้ำให้บริสุทธิ์นี้ก็เป็นน้ำที่ไม่มีการปนเปื้อน จึงสามารถนำกลับมาใช้ทำอย่างอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ” คุณอารยะพิพัฒน์กุล กล่าว
“โครงการนี้ช่วยลดการใช้น้ำในองค์กรลงอย่างมีนัยสำคัญ”
ประโยชน์อีกประการหนึ่งของโครงการเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่คือการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตประปา เมื่อลดการใช้น้ำประปาลงได้แล้ว ก็นับว่า PROLAB “ได้ก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว” คุณอารยะพิพัฒน์กุล กล่าวเสริม
แม้ว่าการประหยัดน้ำได้เป็นจำนวนมากในแต่ละวันจะถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แล้ว แต่ทีมงานของ PROLAB ก็ยังตั้งเป้าที่จะทำไปมากกว่านั้น ทีมงานได้ร่วมงานอีกครั้งกับพาร์ทเนอร์ขององค์กรเพื่อจัดการกับตัวการของปัญหาด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมที่พบอยู่ทั่วทั้งห้องปฏิบัติการ นั่นคือ ขยะพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วหมดไป ที่จำเป็นต่อการทำงานของเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งต้องมีบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ที่โดยทั่วไปแล้วพลาสติกเหล่านี้จะถูกทิ้งหลังจากการใช้เพียงครั้งเดียว
ที่ PROLAB ขยะพลาสติกเหล่านี้ได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่เช่นกัน พาร์ทเนอร์ขององค์กรได้จัดการโครงการด้านการรีไซเคิลที่จะเปลี่ยนพลาสติกที่ถูกทิ้งให้กลายเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ เช่น นาฬิกาติดผนังและถาดต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานในห้องปฏิบัติการ โครงการนี้ได้ช่วยป้องกันไม่ให้พลาสติกถูกทิ้งไปที่หลุมฝังกลบขยะและมหาสมุทร ทั้งยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการกำจัดขยะอีกด้วย
สุดท้าย พาร์ทเนอร์ของ PROLAB ได้นำระบบจัดการพลังงานมาใช้ ซึ่งช่วยให้สมาชิกทีมสามารถติดตามการใช้พลังงานของเครื่องมือแต่ละเครื่องได้ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบแสดงผลที่ช่วยให้ทีมสามารถลดการใช้พลังงานให้น้อยที่สุดจากการดำเนินงานในห้องปฏิบัติการอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
PROLAB ยึดมั่นอย่างมากต่อความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทได้รับการรับรอง ISO 14064-1:2018 มาแล้ว ซึ่งเป็นการรับรองที่เน้นในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และบริษัทยังได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วสองปีซ้อน แต่ PROLAB ก็ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ทีมยังมีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่อีกหลายโครงการ เช่น การใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 และโครงการการนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้
นอกจากนี้ ทีมยังสนับสนุนให้องค์กรอื่น ๆ พิจารณานำโครงการเหล่านี้ไปใช้ต่อยอดด้วย “การมีส่วนร่วมในแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ทำให้เราร่วมกันสร้างผลลัพธ์ที่สำคัญต่อการลดมลพิษและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้” คุณอารยะพิพัฒน์กุล กล่าว