โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้เข้าใช้บริการจากทั่วโลก ด้วยชื่อเสียงที่กว้างไกลในเรื่องความเป็นเลิศทางด้านการดูแลผู้ป่วย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ให้บริการแพทย์เฉพาะทางกว่า 70 รายการ แก่ผู้ป่วยกว่า 1.1 ล้านคนต่อปี จาก 190 ประเทศทั่วโลก
เนื่องจากมีผู้ป่วยเข้ารับบริการเป็นจำนวนสูงมากทุกปี ห้องปฏิบัติการของบำรุงราษฎร์ จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลเอกชนที่มีปริมาณงานมากที่สุดในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการปูทางสู่บริการดูแลสุขภาพรูปแบบใหม่ๆ ผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้มีการวางแผนสร้าง “ห้องปฏิบัติการยุคใหม่” ที่จะมีการใช้อุปกรณ์ ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศ และกระบวนการดำเนินงานที่ล้ำสมัย
เพื่อให้เข้าใจถึงแผนการนี้ได้ดียิ่งขึ้น ทีมงาน Lab Insights ได้พบปะพูดคุยกับคุณเจเรมี ฟอร์ด ผู้อำนวยการฝ่ายห้องปฏิบัติการ งานวิจัยและเทคโนโลยี ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
You have successfully registered!
Thank you for subscribing to the labinsights monthly newsletter.
แนวคิดห้องปฏิบัติการยุคใหม่ของคุณเจเรมี ฟอร์ด
คุณเจเรมีเป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านงานวิจัยห้องปฏิบัติการและการบริหารจัดการมายาวนานถึง 40 ปี เป็นที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ให้กับทีมผู้บริหารระดับสูงของบำรุงราษฎร์ และกลุ่มบุคลากรที่ดูแลการทำงานของห้องปฏิบัติการในแต่ละวัน คุณเจเรมีร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายวิจัยและพัฒนา ให้ความสนับสนุนในด้านการตีความงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งในส่วนของห้องปฏิบัติการ และฝ่ายอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในการปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล
เจเรมี ฟอร์ด ผู้อำนวยการ (ฝ่ายห้องปฏิบัติการ วิจัยและเทคโนโลยี) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
หนึ่งในความมุ่งมั่นของคุณเจเรมี คือการปรับกระบวนการทำงานต่างๆ ของห้องปฏิบัติการ ให้เข้าสู่รูปแบบดิจิทัล โดยในปัจจุบัน ห้องปฏิบัติการทั้งในส่วนของงานจุลชีววิทยา และในส่วนงานหลักได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบไร้กระดาษ หรือ paperless โดยสมบูรณ์แล้ว แต่ในส่วนของงานห้องปฏิบัติการระดับอณูชีวโมเลกุล และฝ่ายจุลพยาธิวิทยา รวมถึงธนาคารเลือด ยังอยู่ในขั้นตอนการปรับเปลี่ยน ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะสามารถเข้าสู่ระบบไร้กระดาษ หรือใช้กระดาษน้อยมาก นอกจากนี้ คุณเจเรมียังมีส่วนช่วยในการนำระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบมาปรับใช้ในกระบวนงานด้านพยาธิวิทยา รวมถึง การทำคำบรรยายประกอบภาพเพื่อรองรับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับการวินิจฉัยและให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
แม้ว่าจะมีพัฒนาการมากมายแล้ว แต่คุณเจเรมียังมองว่าระบบต่างๆ ยังสามารถถูกจับควบรวมกัน และมีความเป็นอัตโนมัติได้มากไปกว่านี้อีก “ภายในสิบปีนี้ เราจะเปลี่ยนมาเป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ มีการใช้หุ่นยนต์อย่างเต็มความสามารถ จะมีเครื่องวิเคราะห์ที่ทำงานร่วมกันเป็นสายงานเดียว ใช้พื้นที่แค่ห้องหรือสองห้อง” โดยคุณเจเรมียังเสริมอีกด้วยว่า “อุปกรณ์ทุกตัวในห้องปฏิบัติการส่วนกลาง และที่จุดให้บริการจะสามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และลิงค์เข้ากับงานระเบียนผู้ป่วยผ่านระบบดิจิทัล”
คุณเจเรมีมองว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้คนจะเริ่มหันมาสวมใส่อุปกรณ์อัจฉริยะที่สามารถตรวจสอบสุขภาพได้แบบเรียลไทม์กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น อุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นระดับ medical-grade มีการวัดข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และใส่สบาย ไม่ต้องเจ็บตัว ซึ่งคุณเจเรมีเชื่อว่า ห้องปฏิบัติการต่างๆ จะมีส่วนสำคัญในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากอุปกรณ์เหล่านี้มาประกอบเข้ากับเครือข่ายข้อมูลดิจิทัลที่มีอยู่ในระบบของโรงพยาบาล
สุขภาพ เวชศาสตร์เฉพาะบุคคล และ “คู่เสมือนดิจิทัล”
ห้องปฏิบัติการยุคใหม่ของบำรุงราษฎร์ไม่เพียงแต่จะยกระดับประสิทธิภาพของงานด้านการแพทย์เท่านั้น แต่ยังช่วยขับเคลื่อนให้เกิดบริการดูแลสุขภาพเชิงรุก และเวชศาสตร์แนวใหม่ที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคล เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าสำหรับผู้ป่วยหรือผู้เข้ารับบริการ
“องค์กรของเราเน้นมากในเรื่องการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และการให้บริการทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับแนวคิดของการมีสุขภาพที่สมบูรณ์ในทุกๆ ด้าน” คุณเจเรมีให้ความเห็น พร้อมเสริมอีกว่า “เราเปิดให้บริการดูแลสุขภาพมาแล้วมากกว่า 20 ปี ถือได้ว่าเราเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกของภูมิภาคนี้ และมันทำให้เรามาไกลเหนือกว่าคู่แข่งของเรา”
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตั้งเป้าที่จะนำมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์แบบเดียวกับที่ใช้ในงานด้านเวชศาสตร์คลินิกมาปรับใช้กับงานบริการดูแลสุขภาพ กล่าวคือ กระบวนการหรือหัตถการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ อาทิเช่น บริการตรวจหาสารพิษในร่างกาย หรือการให้คำแนะนำเรื่องอาหารเสริมนั้น จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบรับรองแล้ว และมีวารสารทางการแพทย์ยืนยัน
ที่กล่าวมานั้น ยังหมายความว่า ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากห้องปฏิบัติการยิ่งมีคุณค่าสูงขึ้น และมีส่วนผลักดันให้เกิดบริการที่สามารถปรับให้เข้ากับแต่ละบุคคลได้มากขึ้นด้วย “เราต้องมองข้ามแนวคิดที่จำกัดอยู่แค่ ผลตรวจควรมีค่าต่างๆ เป็นเท่าไหร่ถึงจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เราต้องมองว่า แต่ละค่านั้นควรจะเป็นเท่าไรถึงจะดีที่สุดสำหรับคนคนนั้น” คุณเจเรมีเสริม “หลายคนอาจคิดว่า สุขภาพที่ดีคือการมี Apple Watch ใส่ แล้วค่าต่างๆ ที่เครื่องวัดได้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่จริงๆ แล้ว มันมีอะไรมากกว่านั้นอีกมาก”
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ระบบของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์สามารถรองรับการจัดทำโปรไฟล์ดิจิทัลของผู้รับบริการแต่ละคนได้อย่างละเอียด ซึ่งทางโรงพยาบาลเรียกสิ่งนี้ว่า “คู่เสมือนดิจิทัล” หรือ “digital twin” ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่รวบรวมมาจากหลากหลายแหล่ง รวมถึง ข้อมูลทางพันธุกรรม ประวัติการรักษา และข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากอุปกรณ์ที่สวมใส่ ซึ่งชุดข้อมูลเหล่านี้จะยิ่งขยายและมีรายละเอียดมากขึ้นเมื่อใช้บริการนานขึ้น ช่วยให้โรงพยาบาลสามารถประเมินความเสี่ยงทางพันธุกรรม หรือสร้างแบบจำลองทางการแพทย์ขึ้นมาเพื่อมอบการดูแลสุขภาพในเชิงรุก และเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้
เป้าหมายสูงสุดคือความพึงใจสูงสุดของผู้ใช้บริการ
นวัตกรรมต่างๆ ที่นำมาใช้กับห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังในการที่จะปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อให้งานบริการทางการแพทย์ และงานบริการดูแลสุขภาพของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เข้าถึงได้ในวงกว้างขึ้น มีความสะดวกสบาย และเหมาะสมลงตัวกับแต่ละคนมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญภายใต้แนวคิดนี้ยังรวมถึง การลงทุนกับ contact center ใหม่ที่ทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมฟังก์ชั่นแชตที่ล้ำสมัย มีการลงทุนเรื่องบริการแพทย์ทางไกล ทั้งในระดับปฐมภูมิและการรักษาเฉพาะทาง การลงทุนในเรื่องบริการ home care ที่รวมถึงการให้คำปรึกษา การมีพยาบาลประจำบ้าน การฉีดวัคซีน การส่งยา การเก็บตัวอย่างตรวจถึงบ้าน และบริการอื่นๆ อีกมากมาย
แนวคิดการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลของบำรุงราษฎร์ ครอบคลุมทุกด้านเพื่อประสบการณ์ที่ดีของผู้รับบริการ
การจะนำความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในทุกๆ ด้านมาผสานกันเพื่อมอบประสบการณ์ที่เป็นหนึ่งเดียวให้กับผู้รับบริการนั้น ทางห้องปฏิบัติการจะต้องทำงานสอดประสานเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของโรงพยาบาลได้อย่างลื่นไหลไม่มีสะดุด บุคลากรของห้องปฏิบัติการจำเป็นต้องมีความพร้อมในการรับมือกับการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงาน เพื่อให้บำรุงราษฎร์สามารถก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปได้
“เนื่องจากส่วนงานด้านการตรวจวิเคราะห์มีความเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำงาน และสร้างทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ” คุณเจเรมีกล่าว “พวกเขาจำเป็นต้องมีความเข้าใจในเรื่องของข้อมูลและเทคโนโลยีมากขึ้น ต้องหันมาใส่ใจในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการและการบริการให้มากขึ้น”