มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับสี่ในสตรีทั่วโลก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ human papillomavirus หรือ HPV ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV และการตรวจคัดกรองที่ละเอียดรัดกุม
เมื่อช่วงปลายปี 2020 ทางองค์การอนามัยโลกได้ออกแผนยุทธศาสตร์ Global Strategy to Accelerate the Elimination of Cervical Cancer ขึ้น เพื่อรับมือกับโรคร้ายนี้ผ่านกลยุทธ์สามข้อด้วยกัน ได้แก่ การฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรอง และการดูแลรักษา ทั้งนี้ การที่แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะสำเร็จได้นั้น จะต้องมีการปรับรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศนั้นๆ เนื่องจากแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการติดเชื้อ HPV ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ออสเตรเลียมีอัตราสตรีที่ติดเชื้อ HPV อยู่ที่ 6 ต่อ 100,000 คน ในขณะที่อินโดนีเซียมีอัตราสูงถึง 23.4 ต่อ 100,000 คน
ความสำคัญของการรู้เท่าทันโรคเพื่อสร้างการยอมรับ
สตรีในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางมักจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อ HPV และโรคมะเร็งปากมดลูกที่น้อยมาก ดังนั้น ความรู้ในรื่องสุขศึกษาเพื่อส่งเสริมสุขภาพจึงยังเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มสตรีเหล่านี้ การเปิดโอกาสให้สตรีสามารถพูดคุยปรึกษาเรื่อง HPV ได้อย่างเปิดเผยจะช่วยผลักดันให้มีการตรวจคัดกรองมากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดแรงกดดันของสังคม ทั้งนี้ จากสถิติพบว่าประชากรทั้งหญิงและชายราว 80% มีแนวโน้มที่จะได้รับเชื้อ HPV ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งของชีวิต
ในแง่ของการตรวจคัดกรองนั้น การตรวจด้วยตนเองก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เหมาะกับกลุ่มสตรีที่มีข้อจำกัดบางประการ เช่น กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข หรือกลุ่มสตรีต่างด้าว การศึกษาที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า วิธีนี้ได้รับการตอบรับในเชิงบวกอย่างล้นหลาม จึงเป็นวิธีที่ถูกบรรจุไว้ในแนวปฏิบัติของหลายๆประเทศ ในเอเชีย โครงการสาธารณสุขหลายๆแห่งมักจะเน้นการสร้างความตระหนักรู้ ยกตัวอย่างเช่น Project Teal ในฮ่องกงที่รวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการดูแลสุขภาพและองค์กรการกุศลต่างๆมากมาย เพื่อร่วมกันมอบการตรวจคัดกรองให้กับกลุ่มสตรีที่ด้อยโอกาส การจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้อย่างต่อเนื่องที่ช่วยให้สตรีหลายร้อยคนได้มีความรู้ความเข้าใจและได้รับการตรวจคัดกรองในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 อีกทั้งโครงการนี้ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 ที่เพิ่มให้มีการตรวจคัดกรองด้วยตนเองร่วมด้วย เมื่อกลุ่มสตรีเหล่านี้มีประสบการณ์ตรงก็จะมีข้อมูลมากขึ้น และช่วยเป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ความรู้ในเรื่อง HPV ให้กับชุมชนของตนเองต่อไป
โครงการ Rose [1] ในมาเลเซียก็มีเป้าหมายและใช้วิธีการเดียวกัน โดยโครงการนี้ได้ให้สตรีทำการตรวจคัดกรองด้วยตนเองที่คลินิกร่วมกับการใช้เครื่องมือวินิจฉัยที่ใช้นวัตกรรมดิจิตอล ทำให้ 91% ของผู้ที่ได้รับผลเป็นบวก [2] กลับมาตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน และ 99% ของสตรีกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการตรวจเป็นประจำเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกในอนาคต การตรวจคัดกรองด้วยตนเองนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์กับหลายๆชุมชนในมาเลเซียแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่นๆอีกด้วย
นอกเหนือไปจากการสร้างความตระหนักรู้และการยอมรับในสังคมแล้ว ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่อง HPV ในเชิงรุกสู่สตรีวัยเยาว์และผู้ที่กำลังมีบุตร ต้องผลักดันในเรื่องการตรวจคัดกรองและการรับวัคซีนป้องกัน เพื่อช่วยให้ผู้ที่กำลังมีบุตรได้ตัดสินใจเข้ารับบริการและการตรวจตามความเหมาะสมตลอดช่วงอายุครรภ์ อย่างไรก็ดี แม้แต่ในกลุ่มผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพเอง การให้บริการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนในเรื่องนี้ก็ยังมีน้อยอยู่ [3]
กรอบการดำเนินงานและการหาเงินทุนด้านการดูแลสุขภาพในแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกัน
โครงสร้างทางสาธารณสุขของแต่ละประเทศยังคงมีความแตกต่างกันอยู่มาก ทำให้การตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนป้องกันของแต่ละประเทศในเอเชียแปซิฟิกยังมีความเหลื่อมล้ำกัน โดยออสเตรเลียยังคงรั้งอันดับหนึ่งในภูมิภาคนี้ ในปี 1991 ออสเตรเลียได้เปิดตัวโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการตรวจคัดกรองที่สามารถผลักดันให้มีการตรวจเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 60%[4] และในปี 2007 (เพียงหนึ่งปีหลังจากวัคซีน HPV ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้) ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิกที่ให้บริการฉีดวัคซีนฟรี โดยเน้นไปที่กลุ่มเด็กนักเรียน ตอนนี้ มะเร็งปากมดลูกเริ่มหายไปจากออสเตรเลียแล้ว และเป็นที่คาดการณ์ว่าโรคนี้จะลดลงเหลือเพียง 4 ต่อ 100,000 รายภายในปี 2035
แม้ว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้จะยังขับเคลื่อนได้ไม่รวดเร็วนัก แต่ด้วยความช่วยเหลือที่กำลังมา เช่น โครงการ Global Alliance for Vaccines and Immunisation (GAVI) ที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือประเทศที่ยังไม่สามารถใช้มาตราการนี้เองได้ โดยข้อมูล ณ ปี 2020 GAVI ได้มอบวัคซีนแก่สตรีวัยรุ่นทั่วโลกไปแล้วเกือบ 5 ล้านราย โดยในจำนวนนี้รวมถึงโครงการที่เปิดตัวในพม่าในปี 2020[5] ท่ามกลางความท้าทายครั้งสำคัญของวิกฤติโควิด-19 [6] อีกด้วย
วัคซีนเป็นคำตอบเพียงแค่ส่วนเดียว เพราะมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการได้รับเชื้อ HPV อย่างต่อเนื่อง และอาจใช้เวลายาวนานถึง 15 ปีก่อนที่จะมีอาการแสดงให้เห็น ดังนั้น การตรวจคัดกรองอย่างเป็นประจำทุกๆ 3-5 ปีจึงเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สามารถตรวจจับเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติหรือการมีอยู่ของ HPV DNA ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ประเทศต่างๆจึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจ HPV DNA และการทำจีโนไทป์ของสายพันธุ์เสี่ยงสูง (เช่น HPV16/18) ให้เป็นการตรวจคัดกรองหลัก
การตรวจ HPV DNA และการทำจีโนไทป์ส่งผลอย่างยิ่งต่อการตรวจคัดกรองที่เหมาะสมตามช่วงอายุของสตรี เพราะเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้ทรัพยากรน้อยกว่า (เช่น เมื่อเทียบกับวิธีการตรวจเซลล์วิทยาที่ต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านสูงและอาจขาดแคลน) ซึ่งวิธีการตรวจแบบนี้อาจเหมาะกับกรอบการทำงานของผู้ให้บริการด้านสุขภาพในบางแห่ง เพราะถึงแม้ว่าตลอดชีวิตจะได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพสตรีเพียงครั้งเดียว ก็ยังดีกว่าไม่เคยได้รับการตรวจเลย
กุญแจสู่การป้องกัน
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ป้องกันได้ไม่ยาก ผู้ป่วย 93% จะปลอดภัยจากโรคนี้ผ่านการรับวัคซีนและการตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การโน้มน้าวผู้ให้บริการด้านสุขภาพทั้งภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการให้ความรู้และชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยป้องกันและจัดการกับโรคนี้ได้
References:
[1] Programme Rose cervical screening test
[2] Woo Y. L. (2019). The feasibility and acceptability of self-sampling and HPV testing using Cepheid Xpert® HPV in a busy primary care facility. Journal of virus eradication, 5(Suppl 1), 10–11.
[3] Tay et al. (2015). Vaccine Misconceptions and Low HPV Vaccination Take-up Rates in Singapore, Asian Pac J Cancer Prev, 16 (12), 5119-5124.
[4] Human papillomavirus fact sheet, Australian Government Department of Health
[5] “Myanmar introduces cervical cancer vaccine nationally, despite COVID-19 challenges”. GAVI news
[6] Human papillomavirus vaccine: Supply and Demand Update, UNICEF report