เพื่อเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและความพึงพอใจของผู้ป่วยให้ถึงขีดสุด ห้องปฏิบัติการหลายแห่งต่างมองหาลู่ทางในการลด turnaround time (TAT) โดยยังต้องรักษาความถูกต้องและความปลอดภัยในผลตรวจ วิธีต่อไปนี้เป็นสามวิธีที่ทำได้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เป็นข้อมูลที่อ้างอิงจากสิ่งที่เราได้เรียนรู้ผ่านห้องปฏิบัติการของเราที่ Hamamatsu University School of Medicine ในประเทศญี่ปุ่น
เปลี่ยนไปใช้บาร์โค้ดที่พิมพ์ขึ้นโดยอัตโนมัติ
แทนที่จะต้องให้ผู้ทำการเจาะเลือดแปะฉลากผู้ป่วยลงบนหลอดเองแบบ Manual ลองพิจารณาหาระบบที่สามารถพิมพ์บาร์โค้ดได้โดยอัตโนมัติ ระบบนี้จะช่วยให้กระบวนการเจาะตรวจเลือดทั้งหมดเสร็จสิ้นได้ภายใน 3-4 นาทีต่อผู้ป่วยหนึ่งราย นับรวมเวลาเปลี่ยนถุงมือเข้าไปแล้วด้วย นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการระบุคนไข้ผิดราย เพราะสามารถตรวจดูได้ง่ายๆ ทันทีจากฉลากและบาร์โค้ดที่ติดอยู่บนหลอดเลือดเรียบร้อยแล้ว
ใช้ระบบนำส่งแบบอัตโนมัติ และมีเครื่องตรวจวิเคราะห์สำรอง
ระบบนำส่งอัตโนมัติสามารถส่งตัวอย่างตรวจตรงไปที่เครื่องวิเคราะห์เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์ทางชีวเคมีและภูมิคุ้มกันวิทยาโดยอัตโนมัติได้ทันที ที่ห้องปฏิบัติการของเรา ผลตรวจจะถูกส่งเข้า laboratory information system ในแบบออนไลน์ และมีการส่งผลตรวจต่อไปยัง hospital information system เพื่อรอการยืนยันผล โดยต้องตรวจสอบกับผลการควบคุมคุณภาพว่าไม่มีค่าหลุดจากช่วงที่กำหนด
และเพื่อเป็นแผนฉุกเฉินในกรณีเครื่องเสีย ลองพิจารณาหาเครื่องวิเคราะห์สำรองสแตนด์บายไว้หนึ่งเครื่องเพื่อเลี่ยงปัญหาความล่าช้าหรือการให้ผลตรวจที่เชื่อถือไม่ได้ แม้ว่าวิธีนี้จะเป็นการทำให้ดูเหมือนว่ากำลังความสามารถในการประมวลผลของเครื่องลดลง แต่มันเพิ่มจุดแข็งในเรื่องของความน่าเชื่อถือได้เป็นอย่างดี ในโรงพยาบาลของเรา หน่วยคลินิกที่ใช้ระบบนี้จะได้รับเรื่องร้องเรียนน้อยมาก นานๆ ทีเราถึงจะมีกรณีที่การตรวจมี TAT นาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพวกนี้เป็นกรณีพิเศษที่ตัวอย่างตรวจมีไฟบริน หรือมีเอ็มโปรตีนอยู่
ทำการตรวจสอบวัด TAT อย่างสม่ำเสมอ
ที่ห้องปฏิบัติการของเรา เรามีการตรวจวัดระดับ TAT สองครั้งต่อปี แต่ละครั้งนานหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราตรวจสอบวิธีการเก็บตัวอย่างทุกรูปแบบ ซึ่งแต่ละวันเราจะทำไม่เหมือนกัน การตรวจสอบนี้ช่วยให้เราสามารถระบุจุดอ่อนของแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ผ่านการทวนสอบข้อมูลอย่างละเอียด นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่รวบรวมได้ระหว่างห้องปฏิบัติการและหน่วยคลินิกของโรงพยาบาล เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยโดยรวมของ TAT และแบ่งปันเป็นข้อมูลสาธารณะ
ความสำคัญของการรักษาคุณภาพของการบริการ
ความสำเร็จในการลด TAT ช่วยให้ห้องปฏิบัติการมีความคุ้มทุนในการตรวจยิ่งขึ้น เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายโดยรวมของโรงพยาบาล แต่แน่นอน ประเด็นหลักอยู่ที่การยกระดับประสิทธิภาพและความคุ้มทุนโดยไม่ลดความถูกต้องของผลตรวจและความพึงพอใจของพนักงาน ซึ่งเราสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการมีกระบวนงานที่รัดกุม ใช้อุปกรณ์และน้ำยาตรวจที่มีคุณภาพสูง และปฏิบัติตามแนวทางของ ISO15189 plan–do–check–act (PDCA) ทุกวันจนติดเป็นนิสัย
การตรวจที่ถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่การวินิจฉัยและการตัดสินใจเรื่องแนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับผลตรวจโดยตรง การตรวจที่ด้อยคุณภาพ หมายถึงการตรวจที่มีวิธีการทวนสอบความถูกต้องไม่เพียงพอ นำไปสู่ความบกพร่องเรื่องความแม่นยำในการทำซ้ำ สามารถตรวจวัดได้ไม่ครอบคลุม และมีความจำเพาะในการวิเคราะห์ต่ำ
ผลที่เห็นได้ทันทีคือ การเสียเวลา อาจต้องมีการทดสอบซ้ำสำหรับการควบคุมคุณภาพภายใน และหลังจากที่มีการเจือจางตัวอย่าง และการเกิด hemolysis อาจทำให้จำต้องมีการเจาะเลือดใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างความไม่สะดวกทั้งกับผู้ป่วย และเพิ่มค่าใช้จ่ายในการตรวจซ้ำสำหรับโรงพยาบาลหรือระบบสาธารณสุข
กระบวนการที่ไม่ดีอาจส่งผลกระทบระยะยาวในวงกว้างจนทำให้เกิดผลการรักษาที่ไม่พึงประสงค์กับผู้ป่วยได้ การได้รับผลการตรวจล่าช้า หรือผิดพลาดอาจส่งผลให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสมหรือได้รับการรักษาโดยไม่จำเป็น เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา หรือทำให้ได้รับผลวินิจฉัยที่ถูกต้องล่าช้า
หากผลตรวจเชื่อถือไม่ได้เนื่องจากอุปกรณ์ กระบวนงาน หรือพนักงานของคุณมีปัญหา ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นคงหักล้างประโยชน์ที่ได้จาก TAT ที่ลดลงจนหมดสิ้น แต่โชคดีที่ประสบการณ์ตรงของเราแสดงให้เห็นว่า การยกระดับประสิทธิภาพการทำงานโดยไม่ต้องลดระดับคุณภาพของบริการเป็นเรื่องที่ทำได้แล้ว ทำได้จริง