ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 วงการแพทย์ทั่วโลกต่างนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในวิถีใหม่เพื่อช่วยให้งานแพทย์เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง แม้หลายพื้นที่จะอยู่ในช่วงล็อคดาวน์ มีการจำกัดการเดินทาง หรือมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ในงานสัมมนาล่าสุดที่จัดขึ้นโดย Roche Diagnostics Asia Pacific ได้มีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจสามกรณีผ่านประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลีย อินเดีย เมียนมาร์ และประเทศไทย
ประชุมทางไกลในออสเตรเลีย
Dr Chris Douglas, Medical Director of Histopath Diagnostic Specialists ในออสเตรเลียให้ความเห็นว่า รูปแบบงานทางการแพทย์ผ่านระบบดิจิทัลจะช่วยลดความจำเป็นในการที่จะต้องพบปะกัน โดยเฉพาะในประเทศที่แต่ละเมืองอยู่ห่างไกลกันมาก ซึ่งการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้เพื่อนร่วมงานของเขาเริ่มเห็นด้วย และยอมเปิดใจให้กับการทำงานในรูปแบบนี้
ทุกวันนี้ เครื่องมือดิจิทัลในเรื่องงานทางการแพทย์ เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในวงกว้าง ทำให้แพทย์หลายคนสามารถประชุมทางไกลกันได้ เช่น การประชุมทีมแพทย์บริหาร เพื่อปรึกษาเรื่องเคสมะเร็งร้ายแรง Dr Douglas ระบุว่า เขาได้รับฟีดแบ็คที่ดีมากจากผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ “การมีแพลตฟอร์มดิจิทัลมันมีประโยชน์มากจริงๆ เราสามารถสแกนสไสด์ส่งให้คนอื่นที่อยู่ไกลๆ ดูได้เลยทันที” เขากล่าว
Dr Douglas ยังเสริมอีกด้วยว่า คุณภาพของภาพที่ส่งผ่านระบบดิจิทัลไปนั้นน่าประทับใจมาก ไม่จำเป็นต้องส่งภาพปรับซูมแต่ละระดับเหมือนกับการให้ดูผ่านกล้องจุลทรรศน์ เพราะการส่งสไลด์ไปเป็นภาพแบบดิจิทัลนั้น เราสามารถปรับดูและใช้งานได้ง่ายกว่ามาก การจะส่งต่อ ทำเครื่องหมายลงไปตรงจุดที่น่าสนใจ การซูมเข้าหรือซูมออก สามารถทำได้ง่ายทันที ต่างจากตอนประชุมโดยใช้สไลด์จริง
Dr Douglas เปรียบเทียบรูปแบบงานแพทย์ที่เปลี่ยนจากเดิมมาเป็นแบบดิจิทัลว่าเหมือนกับการเปลี่ยนจากกล้องฟิล์มมาเป็นกล้องดิจิทัลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ช่วงแรกๆ ความละเอียดของกล้องดิจิทัลอาจจะดูเหมือนไม่พอ แต่ต่อมาไม่นาน มันกลับล้ำหน้ามาตรฐานเดิม แล้วกลายมาเป็นสิ่งที่คนชอบมากกว่าแบบเดิม
การวินิจฉัยโรคระดับปฐมภูมิในอินเดีย
ก่อนที่จะเกิดโรคโควิด-19 Dr Sangeeta Desai, Professor and Head of the Department of Pathology ของ Tata Memorial Centre ในอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์มะเร็งเฉพาะทางที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ได้เริ่มทำการศึกษาเรื่องการนำเทคโนโลยีการแพทย์ดิจิทัลมาใช้งานจริงบ้างแล้ว นอกเหนือไปจากจะใช้เพื่อการเรียนการสอน และเพื่อการควบคุมคุณภาพอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนั้น “เราต้องการที่จะใช้เทคโนโลยีการแพทย์ดิจิทัลสำหรับงานวินิจฉัยในระดับปฐมภูมิ” Dr Desai กล่าว
เมื่อถึงคราวที่อินเดียต้องล็อคดาวน์ทั้งประเทศ Dr Desai และทีมงานได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นแบบทางไกล เพื่อให้แพทย์แต่ละคนสามารถทำการวิเคราะห์สไลด์ และวินิจฉัยโรคได้เลยจากที่บ้าน หลังจากเปลี่ยนการทำงานมาเป็นแบบนี้ พวกเขาได้รับเคสผู้ป่วยมะเร็งสูงถึงเกือบ 500 ราย ซึ่งการดูแลรักษาคงทำไม่ได้ถ้าไม่มีเทคโนโลยีการแพทย์ดิจิทัล
ที่สำคัญก็คือ รูปแบบการรักษาผ่านเทคโนโลยีการแพทย์ดิจิทัลยังมีประสิทธิผลแม้ว่าการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่บ้านของแพทย์แต่ละคนจะมีประสิทธิภาพมากน้อยต่างกัน ทั้งนี้ ทีมแพทย์ต้องหาลู่ทางในการปรับ “ที่ทำงาน” ของตนให้สามารถทำงานได้ตามความเหมาะสม ซึ่งทุกคนก็ทำได้ และสามารถส่งมอบการรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยมะเร็งได้ Dr Desai กล่าวอย่างมั่นใจ
เร่งยกระดับการเข้าถึงในเมียนมาร์
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจมาจากทีมแพทย์ในไทยและเมียนมาร์ เป็นกรณีที่ตอกย้ำให้เห็นว่าเทคโนโลยีการแพทย์ดิจิทัลนั้นสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานข้ามพรมแดนได้อย่างไร ทั้งนี้ ผศ. นพ. ไพโรจน์ จรรยางค์ดีกุล รองกรรมการผู้จัดการ N-Health Pathology ประเทศไทย และ Dr Myat Wai Hsu, Consultant Pathologist ของ N-Health ประเทศเมียนมาร์ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีการแพทย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือยกระดับบริการในภูมิภาคนี้ แม้จะยังมีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอก็ตาม
ก่อนหน้าที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ ทีมแพทย์ของ N-Health ในประเทศไทยต้องใช้เวลาถึง 14 วันกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ นับตั้งแต่รับตัวอย่างตรวจมาจากห้องปฏิบัติการใหม่ในเมียนมาร์ นำมาประมวลผล และรายงานผลตรวจ แต่ตอนนี้ หลังจากที่ทั้งสองแห่งเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีการแพทย์ดิจิทัล กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงแค่วันเดียวตามคำกล่าวของ ผศ. นพ. ไพโรจน์
ตอนนี้ แม้ว่าทางห้องปฏิบัติการในเมียนมาร์ยังคงอยู่ในช่วงขยับขยาย (Dr Hsu กล่าวว่า ในแต่ละเดือน ที่นี่ต้องสแกนสไลด์ถึงราว 90 สไลด์) แต่พัฒนาการในเรื่องความเร็วในการแจ้งผลให้กับผู้ป่วยเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นมาก แพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่นี้บอกกับ Dr Hsu ว่า “ความละเอียดของภาพได้มาตรฐานระดับงานวินิจฉัย และพวกเขาชอบเทคโนโลยีนี้จริงๆ” Dr Hsu กล่าว
เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต
ข้อมูลเชิงลึกต่างๆ ที่นำเสนอในงานสัมมนาครั้งนี้สอดคล้องกับผลสำรวจที่ได้จากการสอบถามบุคลากรห้องปฏิบัติการในเอเชียแปซิฟิกในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2563 โดยผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนถึงเกือบสองในสามเชื่อว่าเราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในส่วนของห้องปฏิบัติการงานพยาธิวิทยากายวิภาคซึ่งเป็นผลมาจากโควิด-19 ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนร้อยละ 66 ระบุว่ามีความสนใจ หรือสนใจมาก ที่จะนำเทคโนโลยีการแพทย์ดิจิทัลมาใช้ในห้องปฏิบัติการของตน หลังจากที่เกิดโควิดขึ้น
เครื่องมือดิจิทัลจะช่วยให้แพทย์สามารถขยายขอบเขตการดูแลและเข้าถึงผู้ป่วยได้กว้างกว่าเดิม และสามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยข้ามจังหวัด หรือแม้แต่ข้ามประเทศก็ได้ หากไม่ผิดกฎข้อบังคับอะไร นอกจากนี้ ยังช่วยให้งานมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และสามารถให้การดูแลได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น อย่างเช่น โรคระบาดในครั้งนี้ ผศ. นพ. ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ประโยชน์ของเทคโนโลยีการแพทย์ดิจิทัลนี้เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เพราะมันสามารถ “เปลี่ยนชีวิต” ได้จริงๆ