Harnessing lactate POC values to deliver early sepsis diagnosis

BulletArticle
แชร์สิ่งนี้:
Thai_sepsis image 1

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดหรือ sepsis เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก โดยสถานการณ์ภาวะ sepsis โดยรวมของโลกจากข้อมูลของ Global Sepsis Alliance พบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดราวๆ 27,000,000 คนต่อปีทั่วโลกและเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดราวๆ 8,000,000 คนต่อปี ขณะที่ผู้รอดชีวิตจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดราวๆ 19,000,000 คนอาจมีภาวะแทรกซ้อนไปตลอดชีวิต และที่สำคัญก็คือทุกคนสามารถมีภาวะ sepsis ได้หลังจากมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของร่างกายว่ามีอยู่มากหรือน้อยเพียงใดขณะที่มีการติดเชื้อ ส่วนภาวะ sepsis ในเด็กพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดถึงราวๆ 6,000,000 คนทั่วโลกต่อปี สำหรับในประเทศไทย ภาวะ sepsis เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยภาวะ sepsis ประมาณ 175,000 รายต่อปีและมีผู้ป่วย sepsis เสียชีวิตประมาณ 45,000 รายต่อปี ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิด STEMI และโรคหลอดเลือดสมอง

Thai_sepsis image 1

ดังนั้นปัญหาภาวะ sepsis จึงอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยหนึ่งในโครงการของแผนงานที่ 6 เกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขปี 2562 ก็คือเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะ severe sepsis ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในกลุ่มผู้ป่วย community acquired sepsis โดยมีตัวชี้วัดว่าภายในปี 2565 ต้องมีอัตราการเสียชีวิตจากภาวะ severe sepsis น้อยกว่าร้อยละ 22 จากเดิมที่ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะ severe sepsis น้อยกว่าร้อยละ 30 ในปี 2561 โดยข้อมูล ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2562 ภาพรวมทั้งประเทศจากการรายงานของ 12 เขตสุขภาพ พบว่ามีอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดแบบรุนแรงชนิด community acquired อยู่ที่ 32.98% ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้น้อยกว่าร้อยละ 30 ในปี 2561

สำหรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะ sepsis ประกอบด้วยการประเมิน การวินิจฉัย การรักษาและการส่งต่อ โดยการประเมินต้องมีแนวทางชัดเจน ได้แก่ การซักประวัติ การตรวจร่างกายและการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขณะที่การวินิจฉัยก็ต้องมีการกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนโดยแพทย์เฉพาะทางร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ ส่วนการรักษาต้องอาศัย guideline ร่วมสหวิชาชีพ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะสามารถทำได้หลังจากได้ผล diagnosis อะไรบ้าง และรวมถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ยาสมเหตุผล ((Rational Drug Use; RDU) และการทบทวนการใช้ยาเดิมของผู้ป่วย (Medication Reconciliation; MR) เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาเชื้อดื้อยามาก ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการมีบทบาทสำคัญต่อการใช้ยาสมเหตุผลของแพทย์ สำหรับการส่งต่อก็ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนทั้งในเรื่องเกณฑ์การส่งต่อ การประสานงานการส่งต่อและการดูแลผู้ป่วยในระหว่างการส่งต่อ

Thai sepsis image 2

โดยเฉพาะในเรื่องของ sepsis management guideline ปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่โดยทั่วไป ก็คือ แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วย severe sepsis และ septic shock (ฉบับร่าง) พ.ศ. 2558 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย เป็นกระบวนการดูแลผู้ป่วย severe sepsis และ septic shock โดยมีการทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพและการประสานงานระหว่างทีม ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งอยู่ใน sepsis bundles/protocol ของโรงพยาบาลชุมชนและ Emergency Room (ER) ของโรงพยาบาลระดับอื่นๆ สำหรับคนไข้ที่มาจากบ้าน ส่วนในกรณีคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะเป็นส่วนหนึ่งอยู่ใน monitor/protocol โดยแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วย severe sepsis และ septic shock ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ มีกลยุทธ์ในการดูแลรักษาที่สำคัญประการแรก คือ วินิจฉัยได้เร็ว ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่รวดเร็วและถูกต้อง   

ขณะเดียวกันในแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วย severe sepsis และ septic shock ฉบับนี้ ยังได้ระบุถึงความจำเป็นของการตรวจ blood lactate สำหรับการวินิจฉัยภาวะ sepsis และ septic shock ไว้ด้วย โดยกำหนดเกณฑ์สำหรับการวินิจฉัย (early detection) ภาวะ severe sepsis และ septic shock ต้องประกอบด้วยผลการประเมินผู้ป่วยด้วย SOS (search out severity) score และ protocol lactate (2 mmol/L) พร้อมกันนี้ ยังกำหนดให้ใช้ blood lactate ในการติดตามผู้ป่วยในระหว่างได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้น (early resuscitation) ด้วย

Thai sepsis image 3

โดยผลจากการที่เขตสุขภาพที่ 8 (อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองบัวลำภู หนองคายและบึงกาฬ) ได้นำแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วย severe sepsis และ septic shock ฉบับดังกล่าวมาจัดทำเป็น protocol สำหรับใช้กับโรงพยาบาลทุกระดับในเขตสุขภาพที่ 8 ในการดูแลรักษาผู้ป่วย severe sepsis และ septic shock จึงทำให้เขตสุขภาพที่ 8 มีอัตราตายผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดแบบรุนแรงชนิด community acquired ปีงบประมาณ 2562 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2562) อยู่ที่ 27.59% ซึ่งบรรลุเป้าตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือ ต่ำกว่าร้อยละ 30

ในส่วนของ diagnosis tools ที่ใช้สำหรับตรวจ blood lactate เพื่อประเมินภาวะ sepsis ประกอบด้วยเครื่องตรวจด้วยวิธีมาตรฐานจากเลือด (เลือดจากหลอดเลือดแดงหรือจากหลอดเลือดดำใหญ่) ที่เป็นเครื่องตรวจขนาดใหญ่สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ และเครื่องตรวจแบบพกพาหรือการตรวจแบบ POCT (Point of Care Testing) ที่ใช้เลือดจากปลายนิ้ว (หลอดเลือดฝอยปลายนิ้ว) ซึ่งการตรวจ blood lactate ด้วยเครื่องตรวจแบบพกพกหรือการตรวจแบบ POCT เหมาะสำหรับการ early detection และการ follow up ผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน

Thai sepsis image 4

โดยในเรื่องความสัมพันธ์ของระดับ blood lactate ที่ตรวจด้วยเลือดจากหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำใหญ่และเลือดจากปลายนิ้ว มีการศึกษาที่น่าสนใจของคณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งตีพิมพ์ในจดหมายเหตุทางแพทย์ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 โดยเป็นการศึกษาเปรียบเทียบระดับ blood lactate จากหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำใหญ่ด้วยวิธีมาตรฐาน และจากปลายนิ้วผู้ป่วย septic shock จำนวน 30 คนที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยสามัญในภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2552 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 พบว่าระดับความสัมพันธ์ของค่า blood lactate ระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำใหญ่ด้วยวิธีมาตรฐาน  และจากปลายนิ้ว คือ 0.992 และ 0.945 (p = 0.01) ตามลำดับ และเมื่อนำ blood lactate ในหลอดเลือดแดงจากการตรวจวิธีมาตรฐานและค่า blood lactate ที่ได้จากการตรวจจากเลือดที่ปลายนิ้ว มาศึกษาความไปด้วยกัน (agreement) โดย Bland-Altman plot พบว่าค่าทั้ง 2 มีความไปด้วยกัน

Thai sepsis image 5

 นอกจากนี้ ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง capillary และ venous lactate โดย David Stoll และคณะที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scandinavian Journal of Trauma, Resuscitation and Emergency Medicine ฉบับเดือนมิถุนายนปี ค.ศ.2018 โดยเป็นการศึกษาเปรียบเทียบระดับ blood lactate จากหลอดเลือดดำใหญ่ที่ตรวจด้วยเครื่อง GEM Premier 4000 (Instrumentation Laboratory) และระดับ blood lactate จากเลือดปลายนิ้วและจากหลอดเลือดดำใหญ่ที่ตรวจด้วยเครื่องตรวจ blood lactate ชนิดพกพา คือ Accutrend Plus พบว่าระดับ blood lactate จากเลือดปลายนิ้วและจากหลอดเลือดดำใหญ่ที่ตรวจด้วย Accutrend Plus มี accuracy และ precision ต่ำกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับ blood lactate จากหลอดเลือดดำใหญ่ที่ตรวจด้วย GEM Premier 4000 

Thai sepsis image 6

ในส่วน POCT lactate ของเครือข่ายห้องปฏิบัติการจังหวัดอุดรธานี มีการทำการเปรียบเทียบผลวิเคราะห์ระหว่างห้องปฏิบัติการ (Inter-laboratory Comparison) หรือ ILC ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Laboratory Accreditation ปีละ 2 ครั้ง โดยจากประเมินครั้งที่ 1/2562 (กุมภาพันธ์ 2562) มีจำนวนโรงพยาบาลในเครือข่ายที่เข้าร่วม 13 แห่งที่มีการใช้ POCT (Accutrend Plus) ในการตรวจ blood lactate พบว่ามีค่า Z-score หรือ SDI (Standard Deviation Index) อยู่ในระดับยอมรับได้         

แชร์สิ่งนี้:

เพิ่มเติมในหัวข้อเดียวกัน

หัวข้อแนะนำ

การวิเคราะห์หาลำดับRED 2020Rare Diseases
สิ่งที่ต้องอ่านถัดไป
Scroll to Top