ปัจจุบันการประสานงาน ณ จุดให้บริการผู้ป่วย (point-of-care coordination) ถือเป็นบทบาทใหม่ที่เกิดขึ้นต่อยอดจากการที่โรงพยาบาลและหน่วยงานสุขภาพต่างๆ ได้นำการตรวจวิเคราะห์ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (point-of-care testing หรือ POCT) มาใช้ในหลากหลายแผนก อาทิ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต คลินิกปฐมภูมิ หรือแม้แต่ในรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือหน่วยกู้ชีพ ซึ่งแม้ว่าแนวคิดนี้จะยังคงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการ POCT เข้ามาช่วยเริ่มมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ความต้องการจ้างบุคลากรเฉพาะที่จะมาดูแลในส่วนนี้มีเพิ่มสูงขึ้นตามมา
เจ้าหน้าที่ประสานงาน ณ จุดให้บริการ (point-of-care coordinator, POCC) จะมีบทบาทและความรับผิดชอบที่หลากหลาย ตั้งแต่การประเมินและคัดเลือกการตรวจวิเคราะห์ใหม่ๆ ไปจนถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งาน POCT เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตรวจวิเคราะห์ต่างๆ นั้นจะเป็นไปตามมาตรฐานและระดับคุณภาพที่กำหนดไว้ทั้งหมด ซึ่งผู้ที่จะสามารถรับผิดชอบในส่วนนี้ได้นั้นจะต้องมีทักษะทั้งในเชิงคิดวิเคราะห์และในความเป็นผู้นำ ตลอดจนมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงเทคโนโลยี POCT ในทุกแง่มุม และสามารถปฏิบัติงานภายใต้โครงสร้างทางองค์กรที่ซับซ้อนของสถานพยาบาลและระบบสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี
สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ความต้องการว่าจ้าง POCC มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้แล้ว และในประเทศที่ยังคงมีข้อจำกัดบางประการอยู่ ดังนั้น บทความนี้จึงได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้าน POCT ในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของ POCC และโอกาสทางอาชีพที่เพิ่มขึ้นสำหรับนักเทคนิคการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
การสร้างทีมเฉพาะทางสำหรับบริการ POCT ในไต้หวัน
ก่อนหน้าที่ ที่โรงพยาบาล Far Eastern Memorial Hospital (FEMH) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ในไต้หวัน จะมีการบริหารจัดการ POCT ในแต่ละแผนกแยกจากกัน โดยไม่ได้มีการดูแลควบคุมจากส่วนกลาง เป็นการเพิ่มภาระให้กับทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ปกติก็มีงานล้นมืออยู่แล้ว อีกทั้งยังสร้างความท้าทายในการทำงานโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ดร. ฟังยีชู ผู้อำนวยการแผนกพยาธิวิทยาคลินิก และ QMC แห่ง FEMH กล่าว
ดร.ชู จึงได้รวบรวมและตั้งทีมงานเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อประเมินปัญหานี้ และหลังจากใช้เวลาครึ่งปี ดร.ชูจึงได้ตัดสินใจสร้างทีมขึ้นมาเพื่อดูแลงานด้าน POCT ของโรงพยาบาลโดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการปฏิบัติงานจะมีประสิทธิภาพอย่างที่ควรเป็น และมีการควบคุมคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้น ดร.ชูได้รับกระแสต่อต้านจากแผนกต่างๆ ที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่หลังจากที่ทุกฝ่ายเริ่มเห็นประโยชน์จากเรื่องนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คนในโรงพยาบาลส่วนมากก็เริ่มหันมาให้การสนับสนุนในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ
“การเอาชนะใจพนักงานและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่มีความเห็นต่างนั้นต้องใช้เวลา แต่การทำแบบนี้จะช่วยให้เราสามารถยกระดับคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยของเราได้” ดร.ชูกล่าว และยังเชื่ออีกว่า ในอนาคต จะมีโรงพยาบาลจำนวนมากขึ้นทั้งในไต้หวันและทั่วทั้งเอเชียที่สามารถยกมาตรฐานคุณภาพของ POCT ให้สูงขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่านมาตรฐานรับรองเฉพาะทาง POCT อย่างเช่น ISO 22870 หรือการสร้างทีมเฉพาะทาง POCT ขึ้นมาเพื่อช่วยให้โรงพยาบาลสามารถบรรลุเป้าหมายด้านคุณภาพเหล่านี้ได้
การพัฒนาขีดความสามารถของ POCC ในเวียดนาม
ที่ Franco-Vietnam Hospital (FVH) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่จำนวน 220 เตียงในนครโฮจิมินห์ ดร.ธาย โลน ฉี เหงียนได้ใช้เวลาหลายปีนำทีมสร้างโปรแกรม POCT ของโรงพยาบาลขึ้นมา โดยบทความที่ดร. เหงียนเขียนขึ้นร่วมกับดร.เจอรัลด์ คอสท์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้าน POCT ชั้นนำของโลก และได้ตีพิมพ์ในวารสาร Point of Care ฉบับเมื่อไม่นานมานี้ ได้แบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลการวิจัยที่จะช่วยเสริมการเรียนรู้ของผู้ประสานงาน ณ จุดให้บริการรุ่นใหม่ๆ ในเวียดนาม[1]
ดร.เหงียนได้เห็นการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยประเมินจากโรงพยาบาล 22 แห่ง และสถานีอนามัยชุมชน 8 แห่งในนครโฮจิมินห์ ร่วมกับโรงพยาบาลประจำจังหวัดอีก 16 แห่งจาก 8 ภูมิภาคในเวียดนาม ทีมงานพบว่าสถานพยาบาลต่างๆ เหล่านี้จำนวนมากมีบริการ POCT แต่ไม่มีการควบคุมดูแลจากห้องปฏิบัติการ และไม่มีการควบคุมคุณภาพใดๆ เลยทั้งจากภายในหรือจากภายนอก แพทย์ไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอจาก POCT ในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือมีภาวะวิกฤต โรงพยาบาลต่างๆ แทบจะไม่มี POCC และยังขาดแนวทางการใช้ POCT ในระดับประเทศ ส่งผลให้การตรวจวิเคราะห์ที่สำคัญๆ หลายรายการทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ หรือในบางกรณีก็ทำไม่ได้เลย
แม้ว่าดร.เหงียนเองจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างความรู้ความเข้าใจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของ POCC ในเวียดนาม แต่ท่านมองว่าเวียดนามยังคงตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยและมาเลเซียอยู่ เพราะทั้งสองประเทศนี้มีข้อกำหนดและแนวทางมาตรฐานในเรื่อง POCT แล้ว[2,3] ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าวยังเสนอแนะเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ควรมีการพัฒนานโยบายในเรื่องนี้ให้ดีขึ้นทั้งในเวียดนามและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การบริหารจัดการ POC กับการบรรจุเป็นหลักสูตรทางการแพทย์
การประสานงาน ณ จุดให้บริการผู้ป่วยเริ่มได้รับความสำคัญถึงขั้นสร้างเป็นอาชีพได้ และบางคนก็เชื่อว่างานบริหารจัดการ POCT มีความสำคัญและซับซ้อนมากจนควรได้รับการตั้งเป็นความชำนาญเฉพาะทางใหม่ในวงการแพทย์ที่เราอาจเรียกกันได้ว่า “point-of-careology”[4] ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งสร้างความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน POCT ทั้งในแง่ของงานบริการทางการแพทย์และงานบริการชุมชน และมีส่วนในการส่งเสริมงานวิจัย การกำหนดนโยบาย และนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ POCT ในวงกว้าง
หลักสูตรเฉพาะทางนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยทีมผู้เชี่ยวชาญที่นำโดยศาสตราจารย์ฉี กวง หลิว จาก School of Laboratory Medicine ที่ Hubei University of Chinese Medicine ในอู่ฮั่นประเทศจีน ร่วมกับดร.คอสท์ และกำลังถูกบรรจุลงในหลักสูตรทางการแพทย์ของจีน แม้ว่าโดยหลักๆ แล้ว นอกจากหลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นไปที่นักศึกษาด้านสาธารณสุขและนักเทคนิคการแพทย์แล้ว มันก็ได้รับการนำเสนอให้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรสำหรับนักศึกษาด้านสาธารณสุขในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย
ประโยชน์ของการบริหารงาน POCT ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น นอกจากจะเป็นการยกระดับการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลแล้ว มันยังมีส่วนช่วยให้การควบคุมและเฝ้าระวังโรคในชุมชนทำได้ดีขึ้นด้วย ส่งผลให้ทั้งระบบสาธารณสุขมีต้นทุนที่ต่ำลงแต่มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ POCT ยังมีประโยชน์อย่างมากในสถานการณ์วิกฤต อย่างเช่น ในภาวะเกิดโรคระบาดทั่วโลกอย่างโควิด-19[5] หรือเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งกรณีเหล่านี้การตรวจวิเคราะห์และโครงสร้างทางสาธารณสุขต้องมีการปรับเปลี่ยนและขับเคลื่อนให้รวดเร็ว
การจะบรรลุประโยชน์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ได้ เราจำเป็นต้องมีการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ผู้ผลิตและพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ ทั้งนี้ เนื่องจากมีการตรวจวิเคราะห์รูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการใช้งานอย่างแพร่หลายและพยากรณ์โรคได้อย่างแม่นยำ ผู้เชี่ยวชาญงานด้าน POCT จึงมีโอกาสอย่างมากในการช่วยกำหนดทิศทางใหม่ให้กับการดูแลผู้ป่วยในอนาคต
เอกสารอ้างอิง:
[1] Nguyen C, Kost GJ. “The Status of Point-of-Care Testing and Coordinators in Vietnam: Needs Assessment, Technologies, Education, Exchange, and Future Mission.” Point of Care (2020) 19.1:19-24. doi: https://10.1097/POC.0000000000000196
[2] The Point of Care Testing Steering Committee. National Point of Care Testing Policy and Guidelines. Putrajaya, Malaysia: Ministry of Health Malaysia Medical Development Division. July 2012. Available at: http://moh.gov.my/images/gallery/Garispanduan/National_Point_of_Care_Testing.pdf. Accessed 17 Sept 2020.
[3] Ministry of Public Health. Thailand’s National Guidelines for Point-of-care Testing (POCT). Bangkok, Thailand: MOPH; 2015. Available at: http://blqs.dmsc.moph.go.th/assets/Userfile/POCTguideline.pdf. Accessed 17 Sept 2020.
[4] Liu X, Zhu X, Kost GJ et al. “The creation of point-of-careology.” Point of Care (2020) 18.3: 77-84. [open access] doi: https://doi.org/10.1097/POC.0000000000000191
[5] Kost GJ. “Designing and Interpreting COVID-19 Diagnostics: Mathematics, Visual Logistics, and Low Prevalence.” Acrh Pathol Lab Med (2020) doi: https://doi.org/10.5858/arpa.2020-0443-SA