มะเร็งเซลล์ตับในประเทศไทย: นพ. ธีระชัย ทรงเกียรติกวิน กับบทบาทการพัฒนางานวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งตับ

BulletArticle
แชร์สิ่งนี้:

จากข้อมูลในปี 2563 ของสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก หรือ Globocan ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคมะเร็งตับเป็นจำนวนสูงถึงกว่า 27,000 รายต่อปี ถือได้ว่าเป็นโรคมะเร็งชนิดที่ตรวจพบได้มากที่สุดในประเทศ[1] และเนื่องจากยังคงมีช่องว่างในเรื่องของระบบบริการเฝ้าระวัง วินิจฉัย และให้การรักษาโรค ทำให้ผู้ป่วยหลายรายตรวจพบโรคนี้เมื่อเข้าสู่ขั้นรุนแรงแล้ว เป็นผลให้การรักษาทำได้แค่การดูแลแบบประคับประคอง  

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma, HCC) และมะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma) เป็นมะเร็งตับสองชนิดที่พบได้มากที่สุดในประเทศไทยด้วยเหตุผลที่ไม่เหมือนกัน โดยมะเร็งท่อน้ำดีนั้น จะพบได้บ่อยที่สุดในภาคอีสาน และมักเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรับประทานปลาร้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้พยาธิใบไม้ตับสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ขณะที่ผู้คนทางตอนเหนือของประเทศมักเดินทางไปทำงานต่างถิ่น ทำให้โรคนี้ดูเหมือนกระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การดื่มสุราก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความเสี่ยงของโรคตับพุ่งสูงขึ้นในประเทศไทย

เนื่องจากการดูแลรักษาโรคตับยังคงเป็นความท้าทายต่อเนื่องที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของไทยต้องประสบ ดังนั้น ทางทีมงาน Lab Insights จึงได้เข้าพูดคุยกับ

นพ. ธีระชัย ทรงเกียรติกวิน นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา และประธานร่วม คณะทำงานสาขาโรคมะเร็ง ระบบบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางนโยบายและแผนกลยุทธ์ของ สธ. ในการที่จะบรรเทาและพัฒนาการดูแลรักษาโรคมะเร็งตับในประเทศไทย  

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมีส่วนช่วยบรรเทาในเรื่องโรคมะเร็งได้อย่างไรบ้าง 

ตลอดช่วงสิบปีที่ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามา จะเห็นได้ว่า โครงการนี้มีส่วนช่วยเสริมความก้าวหน้าของงานแพทย์ ยกระดับการรักษา และเพิ่มอายุขัยของประชากรได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดข้อจำกัดในเรื่องของค่าใช้จ่าย ทำให้คนสามารถเข้าถึงบริการรักษาโรค และรักษาชีวิตได้มากขึ้น โครงการนี้มอบโอกาสให้ผู้ป่วยทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบริการตรวจและรักษามะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูกได้ แม้ในถิ่นทุรกันดาน  

ช่วยอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งตับที่มีในปัจจุบันหน่อยได้ไหม

ปัจจุบัน ในประเทศไทย เรามักจะตรวจพบโรคตับเมื่อผู้ป่วยแสดงอาการในระยะท้ายๆ ของโรค ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากการที่เราไม่ได้มีโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อตรวจหามะเร็งตับแต่เนิ่นๆ แม้ว่าเราจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายครอบคลุมตั้งแต่การตรวจไปจนถึงการรักษาโรคมะเร็งอยู่แล้วก็ตาม ซึ่งเราได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้นแล้วว่า จะให้มีการติดตั้งเครื่องมือรักษาด้วยวิธีรังสีร่วมรักษา (interventional radiology) ในพื้นที่ชนบท ซึ่งหลายๆ จังหวัดในตอนนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาสุขภาพและไม่มีการใช้วิธีรักษาดังกล่าว

เราจะเพิ่มโครงการตรวจคัดกรองหรือเฝ้าระวังโรคก็ต่อเมื่อเราพิสูจน์ได้ว่าวิธีที่จะใช้นั้นมีผลต่อการรักษาและคุ้มค่าเงินลงทุน ยกตัวอย่าง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เราสามารถทำได้ด้วยการตรวจแปปสเมียร์ หรือการตรวจหาเชื้อเอชพีวี  ส่วนการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ เราก็ใช้การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ แต่การตรวจหาโรคมะเร็งตับนั้น เรายังไม่มีเครื่องมือ หรือวิธีที่เทียบได้กับการตรวจเหล่านี้ เรายังต้องอาศัยการตรวจผ่าน CT scan และ MRI scan อยู่  

ทาง สธ. มีนโยบายอย่างไรในการจัดสรรทรัพยากรทางสาธารณสุข และจำแนกปัจจัยเสี่ยงของแต่ละจังหวัด 

มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้จำนวนของผู้ป่วยใหม่และผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับเพิ่มขึ้น อาทิ ความไม่เท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ในถิ่นทุรกันดาร จะเห็นได้ว่าจำนวนของผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐภายใต้การดูแลของ สธ. มีจำนวนสูงกว่าที่อื่นมาก และเพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ ทางสธ. จึงได้วางแผนที่จะเพิ่มความครอบคลุมของโครงการให้กว้างขึ้น แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ตอนนี้แพทย์เฉพาะทางอย่างศัลยแพทย์ตับ หรือเครื่องไม้เครื่องมืออย่างอุปกรณ์ฉายรังสีร่วมรักษา ยังคงมีเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ ตามศูนย์ความเป็นเลิศ หน่วยบริการระดับตติยภูมิ หรือตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ก็เป็นที่ที่ผู้ป่วยตามชนบท หรือที่ไม่มีกำลังทรัพย์เข้าถึงได้ยาก 

ปัจจุบัน สธ. ได้ร่วมมือกับบุคลากรสาธารณสุขในระดับโรงพยาบาลเพื่อขยายแผนบริการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับขั้นวิกฤตที่ต้องการการรักษาที่ดีขึ้นควรมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากการรักษาด้วยวิธีรังสีร่วมรักษา ทั้งนี้ โครงการเฝ้าระวังโรคตับอักเสบ และโครงการฉีดวัคซีนของไทย มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเซลล์ตับลงได้เป็นผลสำเร็จ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการใส่ใจและเน้นให้บริการไปที่กลุ่มเสี่ยงสูง

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีโครงการสาธารณสุขหรือสวัสดิการสังคมใดบ้างที่จะช่วยลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายของคนไทยที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ ไม่ว่าจะป่วยในขั้นไหนก็ตาม 

ด้วยความที่ผู้ป่วยมะเร็งตับในไทยส่วนใหญ่มักจะรู้ตัวเมื่อเข้าสู่ระยะท้ายๆ ของโรคแล้ว ซึ่งตอนนั้นก็ทำการรักษาอะไรมากไม่ได้ ดังนั้น เรื่องค่าใช้จ่ายคงไม่ใช่ประเด็น แต่หากเราต้องการที่จะเปลี่ยนทิศทางการดูแลโรคนี้ให้ดีขึ้น เราจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยวิธีรังสีร่วมรักษา ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ รวมถึงยาที่ใช้ร่วมในการรักษาแบบนี้ยังเป็นค่าใช้จ่ายที่เบิกไม่ได้ ซึ่งคนไทยหลายคนก็ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอสำหรับการรักษาแบบนี้ 

เรื่องนี้เป็นความท้าทายสำหรับการวางแผนในอนาคตของ สธ. เพราะในตอนนี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังให้เบิกได้แค่การรักษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น ไม่รวมการรักษาขั้นสูง ดังนั้น ผู้ป่วยยังต้องพึ่งสวัสดิการสังคม ประกันสังคม และอาสาสมัครสาธารณสุขอยู่ แต่เนื่องจากเราเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่อปีของคนไทย โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ยังคงเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทาง สธ. จึงมีแผนที่จะเปิดตัวนโยบายใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจของคนไทยในเรื่องการป้องกันโรคมะเร็ง และเน้นให้มีการตรวจหามะเร็งตับแต่เนิ่นๆ  

ประเด็นที่สำคัญก็คือ เราจำเป็นต้องมีการศึกษาสำรวจและทดสอบในเชิงลึก แต่รัฐบาลยังคงติดปัญหาเรื่องการให้เงินลงทุนในโครงการนี้  ข้อมูลเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่ละเอียดและครอบคลุมอาจจะช่วยให้เราเข้าใจถึงสถานการณ์นี้ได้ดียิ่งขึ้น  และสามารถเลือกวิธีหรือเครื่องมือในการรักษาที่เหมาะสมเพื่อนำมาบรรจุไว้ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไทยทั้งประเทศ  สธ. จะทำการจัดสรรเครื่องมือที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่ใช้เหมือนกันทั่วประเทศ ผสานกับข้อมูลเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเพื่อทำการจัดสรรงบเพื่อการตรวจคัดกรองและป้องกันโรคตับสำหรับโรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศ ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดารด้วย 

ขณะนี้ หน่วยงานสาธารณสุขมีแอปพลิเคชันหรือเครื่องมือดิจิทัลอะไรบ้างหรือไม่ สำหรับการจัดการกับโรคตับ หรือเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และระบบสาธารณสุข 

เรามีแอปพลิเคชันสำหรับการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ในประเทศไทย แต่เรายังไม่มีแอปพลิเคชันเฉพาะสำหรับโรคตับ แม้ว่าแพทย์จะต้องการเครื่องมือดิจิทัลสำหรับให้บริการกับสาธารณชน แต่ก็ยังติดอยู่ที่ว่าใครจะได้ประโยชน์จากการใช้เครื่องมือเหล่านี้บ้าง เราจำเป็นต้องมีการวางแผนและการสำรวจนำร่องเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้แอปพลิเคชันสำหรับโรคตับ ก่อนที่จะเปิดใช้โครงการในระดับประเทศ 

คุณคิดว่าแนวโน้มในอนาคตของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับในไทยจะเป็นเช่นไร 

เราจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันในอนาคตระหว่าง สธ. และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุข เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราจะมีมาตรฐานการรักษาที่เท่าเทียม อันที่จริง ตอนนี้เราได้มีแนวทางแนะนำทางการแพทย์ในเรื่องการตรวจโรคในระยะต้นอยู่แล้ว โดยการตรวจสารบ่งชี้ทางชีวภาพ (อัลฟา ฟีโตโปรตีน) ร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ เพื่อเฝ้าระวังโรคมะเร็งเซลล์ตับในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากระบบในปัจจุบันยังมีความไวในการตรวจจับไม่พอ และอุปกรณ์ตรวจจับที่ไวกว่ายังคงหาได้ยาก แพทย์หลายคนจึงแนะนำให้หันมาใช้สารบ่งชี้ทางชีวภาพตัวใหม่ (เช่น AFP-L3) ร่วมกับระบบให้คะแนน (GALAD) ในการตรวจคัดกรองขั้นต้น ซึ่งข้อเสนอนี้อาจทำให้แนวทางแนะนำในอนาคตของสาธารณสุขไทยเปลี่ยนแปลงไป  

สธ. ทราบดีว่า การยกระดับความรู้ความเข้าใจของประชากรเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญทางด้านสาธารณสุข ทาง สธ. จึงได้มีการนำเครื่องมือดิจิทัลและแอปพลิเคชันมือถือมาใช้สำหรับการตรวจประเมินมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และการติดตามเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ซึ่งเครื่องมือที่ใช้งานได้ง่ายๆ เหล่านี้มีส่วนช่วยผลักดันประชาชนให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว ทั้งนี้ ทาง สธ. หวังว่าเราจะทำได้ในแบบเดียวกันสำหรับโรคมะเร็งตับและมะเร็งเซลล์ตับ แต่ก่อนอื่น ต้องมีการสำรวจและยืนยันให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับและความคุ้มทุนของโครงการนี้เสียก่อน  

เอกสารอ้างอิง:

[1] WHO International Agency for Research on Cancer Thailand Fact Sheet

แชร์สิ่งนี้:

เพิ่มเติมในหัวข้อเดียวกัน

หัวข้อแนะนำ

SequencingRED 2020Rare Diseases
สิ่งที่ต้องอ่านถัดไป
Scroll to Top